วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความรู้เกี่ยวกับเครื่องวัดรังสี


เราจะทำงานกับรังสีให้ปลอดภัยได้อย่างไร 

    รังสีมีทั้งประโยชน์และโทษ การใช้ประโยชน์จากรังสีจึงต้องมีความรู้ถึงผลของรังสีต่อร่างกาย มีความเข้าใจเรื่องหน่วยวัดรังสี และการป้องกันอันตรายจากรังสีก่อน อีกทั้งต้องมีวินัยในขณะปฎิบัติงานโดยทำงานตามขั้นตอนการปฎิบัติงานกับรังสีอย่างเคร่งครัด

มีหน่วยงานสากลใด ที่กำหนดมาตรฐานปริมาณรังสี สำหรับคนทำงานกับรังสี และกำหนดไว้อย่างไร

    มีหน่วยงานนานาชาติ ที่ชื่อว่า International Commission on Radiation Protection หรือย่อว่า ICRP เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน และกฏเกณฑ์ในการควบคุมความปลอดภัยในการใช้รังสี
    ตาม ICRP60 กำหนดให้คนที่ทำงานกับรังสี ได้ไม่เกิน 50 mSv/ปี และถ้าเฉลี่ยในระยะเวลา 5 ปีต่อเนื่อง
กัน ต้องไม่เกิน 20 mSv/ปี
    อีกทั้ง กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องของไทย ได้กำหนดปริมาณรังสีสูงสุดที่ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีควรได้รับตามมาตรฐานนี้

เราจะทราบได้อย่างไร ว่าที่ทำงานกับรังสี เราได้รับรังสีไปปริมาณ เท่าใดแล้ว 

    เนื่องด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ ไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ว่าบริเวณใด มีรังสีมากน้อยเพียงใด และได้รับปริมาณรังสีในอัตราเท่าใดแล้ว ผู้ปฏิบัติงานในบริเวณรังสีอาจได้รับปริมาณรังสีในอัตราที่เป็นอันตรายได้ ถ้าได้รับปริมาณรังสีมากเกินมาตรฐานความปลอดภัย ร่างกายจะแสดงอาการออกมาให้เห็น เช่น  คลื่นไส้ เวียนศรีษะ อาเจียน ท้องร่วง เป็นต้น ซึ่งอาจสายเกินแก้
 
เครื่องวัดรังสี มีกี่ชนิด สำหรับคนที่ทำงานกับรังสี

    เครื่องวัดรังสี ที่จำเป็นสำหรับการทำงานทางรังสี มี 3 ชนิด แบ่งตามช่วงเวลาในการทราบผล คือ
         1. ชนิดแสดงผลทันที ได้แก่ เครื่องสำรวจรังสี (Survey Meter)
         2. ชนิดที่บันทึกผลระยะสั้น ได้แก่ Pocket Dosimter
         3. ชนิดที่บันทึกผลระยะยาว ได้แก่ ฟิล์มบันทึกรังสี (Film Badge) และแผ่น TLD ซึ่งต้องอ่านค่าในห้องแล็ปมาตรฐานตามข้อกำหนดของกฎกระทรวง

คนทำงานกับรังสีส่วนใหญ่ได้ติด  Film Badge หรือแผ่น TLD อยู่กับตัว ในขณะทำงานอยู่แล้ว น่าจะเพียงพอแล้วใช่หรือไม่

    ทั้ง Film Badge และ TLD ใช้บันทึกผลระยะยาว อาจจะ 1 - 2 เดือน กว่าจะนำเข้าห้องแล็ปเพื่อวัดผล ซึ่งอาจจะสายเกินไป หากมีเหตุฉุกเฉิน เกิดมีรังสีรั่วไหลออกมาขณะทำงาน คนทำงานไม่รู้ตัว และยังทำงานต่อไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
    แต่หากเรามี เครื่องวัดรังสี ชนิดแสดงผลทันที (Survey Meter) ไว้ตรวจสอบทุกครั้งที่ปฎิบัติงาน เพื่อจะได้รับทราบ เหตุฉุกเฉินหรือเหตุผิดปกติในขณะทำงาน ซึ่งสามารถ ป้องกันอันตรายจากรังสี ได้ ทั้งต่อผู้ที่ทำงานกับรังสี และบุคคลภายนอก

ในทางกฎหมายมีข้อบังคับเรื่องการป้องกันอันตรายในสถานที่ที่มีีการทำงานกับรังสีอย่างไร 

    ตามกฎกระทรวง ปี 2550 ส่วนที่ 1 ว่าด้วยเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตเกี่ยวกับวัสดุพลอยได้ หรือพลังงานปรมาณูจากเครื่องกำเนิดรังสี ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติพลังงานประมาณูเพื่อสันติ ปี 2504 ในข้อ 8 กำหนดให้
“ ผู้ขอใบอนุญาต ต้องดำเนินการทางเทคนิคเกี่ยวกับรังสี สถานที่จัดเก็บ และสถานที่ประกอบการเกียวกับรังสี เครื่องมือตรวจวัดรังสี และเครื่องใช้อันจำเป็น เพื่อระงับหรือป้องกันอันตรายจากรังสี ซึ่งอาจมีแก่บุคคล ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ”

เครื่องตรวจวัดรังสี มีประโยชน์ใช้งาน อะไรได้บ้าง 

    ตรวจวัดอัตราปริมาณรังสีรั่วไหล
    ตรวจวัดอัตราปริมาณรังสีที่ผู้ปฏิบัติงานในบริเวณรังสีได้รับในขณะทำงาน
    ตรวจวัดรังสีปนเปื้อน หรือตกค้าง
    ค้นหาวัสดุกัมมันตภาพรังสี ที่หล่นหาย
    ตรวจวัดความสามารถป้องกันรังสีของแผ่นกำบังรังสี (Shield)
    ตรวจวัดอัตราปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม ณ.สถานที่ต่างๆ